ตอนที่ 29: “สัปดาห์แรกของรัฐมนตรี”

          ชีวิตการเป็นรัฐมนตรีนั้นแตกต่างจากการเป็นเลขารัฐมนตรีอย่างน้อยก็ในแง่ของการที่ต้องก้าวออกมายืนอยู่ข้างหน้าในนามของกระทรวง พม. อย่างเต็มตัว และก็หมายถึงการยืนต่อหน้าสาธารณะ ที่พร้อมจะให้สาธารณะได้ตรวจสอบ ซักถาม ทวงถาม วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน ขุดคุ้ย ตีแผ่ ฯลฯ ได้ตลอดเวลา นี่แหละคือสิ่งที่ผมไม่ชอบเลย

          ด้วยนิสัยใจคอ   ผมชอบทำงานเงียบๆ รู้จักกันในแวดวงเพื่อนฝูง เครือข่ายเท่านั้น ผมชอบที่จะอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคนอื่นๆ เสียมากกว่า เพราะต้องการความเป็นอิสระ เป็นส่วนตัว ไม่ชอบสุงสิงยุ่มย่ามกับใคร จนกระทบกับความสงบสุขเรียบง่ายของตัวเองและครอบครัว

          แต่เมื่อความจำเป็นบังคับให้ต้องตัดสินใจ เมื่อคิดดีแล้วและตัดสินใจแล้วจึงต้องพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อแสดงบทบาทใหม่ให้สมกับฐานานุรูป

          เมื่อก่อนเดินทางไปไหนมาไหน ไปทำงานที่ไหน  ทั่วแผ่นดินก็ไปอย่างสะดวกคล่องตัว แต่วันนี้ทุกกิจกรรมที่ลงวาระถือเป็นงานของกระทรวง พม.ไปเสียทั้งหมด เมื่อเป็นวาระงานของ รมต.   หมายความว่ากองงานเลขานุการและสำนักงานรัฐมนตรีเขาจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นธุระไปหมด เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของเขา จะว่าเขาไม่ได้เลย
          โทรศัพท์ที่เคยถือเองก็ต้องมีคนถือให้ รับสายให้ กลั่นกรองให้ รถประจำตำแหน่งก็ต้องเปลี่ยน มีคนขับ 1   และผู้ติดตามอีก 1 ส่วนตำรวจติดตามนั้นเป็นสิทธิ แต่ไม่เอาก็ได้ เช่นเดียวกับรถตำรวจนำขบวน ผมปฏิเสธเพราะกลัวเอิกเริกและเป็นภาระในการดูแลมากเกินไป
          ในที่สุดผ่านมาได้ 1 สัปดาห์ แล้ว    กับวิถีชีวิตของรัฐมนตรีใหม่มือใหม่ เป็น 1 สัปดาห์ที่ดูเหมือนว่าช่างยาวนานเสียเหลือเกิน
 
          12 มี.ค. “ประชุมร่วม ครม.+ คมช. เป็นครั้งแรก”
                    ควันหลงจากการสัมภาษณ์ นสพ.หลายฉบับเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว บท scoope   สัมภาษณ์ขนาดยาว เริ่มชิ้นแรกโดยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำวันอาทิตย์ที่ 11 มี.ค.2550, ฉบับแทบลอยด์ ขึ้นหน้าปกเต็มจอและเนื้อในอีก 1 ใน 4 ของฉบับ พาดหัวว่า พัฒนาภาคประชาชน : นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
                    พร้อมกันกับหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 มี.ค. ลงเต็มหน้า “ห้องรับแขก” พาดหัวว่า พลเดช ปิ่นประทีป : ผู้เป็นมากกว่ารัฐมนตรีช่วย
                    ทั้ง 2 บทสัมภาษณ์นี้   คนที่รู้จักผมเป็นการส่วนตัวได้อ่านกันเป็นจำนวนมาก เล่นเอาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรับโทรศัพท์กันไม่หวาดไม่ไหว   ส่วนใหญ่ก็บอกว่า “สะใจดีจัง” , “เปิดให้เห็นตัวตนดีมาก”
                    ดร.วรากร   สามโกเศศ (รมช.ศึกษาธิการ) บอกว่าอ่านโดยละเอียดและตัดเก็บไว้ด้วยเพราะมีแง่คิดที่เป็นประโยชน์ต่อท่านมาก
                    อ.ประเวศ ฝากวณีมาบอกว่า “ได้อ่านแล้ว พูดได้ดีมาก”  
วันจันทร์แรกของการทำงานในฐานะ รมต. พม. ต้องรับแขกที่มาแสดงความยินดีมากมาย ต้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถี่ยิบ และต้องรับภารกิจนัดหมายแทน รมว. เกือบทั้งหมด ต้องยอมอยู่ในสถานที่ถูกจัดการตลอดทั้งวัน รวม 10 รายการ
8.00 น. สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ   มีนักข่าวหญิง 2 คน มาสัมภาษณ์จนจบแล้ว เธอเผยว่าได้อ่านบทสัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์แล้วเกิดแรงบันดาลใจมาก!
8.30  น. เป็นประธานประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก โดยที่ไม่มีเวลาได้อ่านเอกสารการประชุมไปก่อน อาศัยความเก๋าเกมส์และอาศัยว่ามีฝ่ายเลขานุการที่มีประสบการณ์ จึงเอาตัวรอดไปได้ พร้อมๆ กับเริ่มเข้าใจงานของคณะกรรมการระดับชาติชุดนี้ และรู้ตัวทันทีว่าต่อไปคงต้องทำหน้าที่ประธานแทน รมว. พม. เช่นนี้ไปตลอด
9.30 น. เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายศูนย์รับแจ้งเหตุ ของ ศป.ลร. ซึ่งงานก้าวหน้าไปมาก สมาชิกต่างมีกำลังใจและเข้ามาแสดงความยินดีที่รับตำแหน่ง
10.30 น. ไปที่ กทม. สำนักงานใหญ่, เสาชิงช้า, เพื่อร่วมพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง พม.กับ กทม. ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมเพื่อคน กทม.อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ปลัด กทม. ดร.ศักดิ์พงษ์  เสมสันติ์ และ ปลัด พม. คุณวัลลภ พลอยทับทิม เป็นผู้ลงนาม, ผู้ว่า กทม. คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ รมต. พลเดช ปิ่นประทีป ลงนามในฐานะสักขีพยาน ว่าทั้ง 2 องค์กรจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง, เสร็จแล้ว ผู้ว่า กทม. + รมต.พม. ยืนแถลงข่าวสื่อมวลชน มีนักข่าวทั้ง TV,วิทยุ,นสพ.เต็มไปหมด
11.00 น. เข้าประชุมและรับประทานอาหารกลางวัน ร่วมกันระหว่าง ครม. และ คมช. ทั้งชุด ที่บ้านพิษณุโลก มีรัฐมนตรีเก่ามาทักทายแสดงความยินดีหลายคน ผมจึงถือโอกาสไปแนะนำตัวต่อ รมต.ร่วมคณะเกือบถ้วนหน้า
14.15 น. สัมภาษณ์สดรายการวิทยุ “หน้าต่างสังคม” สื่อมวลชนต่างสนใจนโยบาย 7 เดือน 5 อย่างที่ประกาศออกไป และตามมาสัมภาษณ์เจาะลึก
13.00 น. ประชุมคณะกรรมการสวัสดิการชุมชน ที่ รมว.ไพบูลย์แต่งตั้ง มี รมว. เป็นประธาน เดิมผมไม่ได้เป็นกรรมการด้วยจึงไม่ได้ร่วมประชุมมีแต่ ทปษ. เอนก และ ทปษ. สินเท่านั้นที่ดูแล คราวนี้ รมว.ขอให้ผมร่วมประชุมด้วยเพื่อต่อไปจะต้องทำหน้าที่แทนท่าน
ร่วมประชุมช่วงแรก รมว.ไพบูลย์เป็นประธานและคุณเอนกนำที่ประชุมไปในทางที่จะขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนไปดูแลงานสวัสดิการสังคมพร้อมกันไป ซึ่งผมจับอารมณ์ที่ประชุมว่ายังเบลอๆ กันไปตามสภาพ
ระหว่างประชุมผมออกไปให้สัมภาษณ์วิทยุเสียครึ่งชั่วโมง กลับมาอีกที รมว. และ ทปษ. เอนกพากันออกไปประชุมที่ทำเนียบเรื่องแก้ปัญหาความยากจนแล้ว ปล่อยให้ลุงสุรินทร์   กิจนิตย์ชีว์ ทำหน้าที่ประธานแทน
เมื่อผมกลับมาจึงถือโอกาสแสดงความคิดความเข้าใจส่วนตัว โดยแยกแยะให้ที่ประชุมเห็นความแตกต่างระหว่าง ระบบสวัสดิการชุมชน และ ระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งมีธรรมชาติและเจตนาที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่เราต้องบริหารจัดการในช่วงต้นโดยแยกกันก่อน   และมีเป้าหมายว่าจะหลอมรวมกันให้ได้ภายใน 3 ปี ตาม Roadmap  เท่านั้นแหละประธานและที่ประชุมจึงถึงแก่ความสว่าง!
15.00 น. อาจารย์ วิภาพร มาเข้าเยี่ยมแสดงความยินดีและหารือเรื่องงานฝึกผู้ช่วยพยาบาลที่ จชต. ซึ่งเคยสนับสนุนกันมาตั้งแต่ช่วงที่อยู่ ศพต.
15.30 น. ทีมที่ปรึกษา รมต.ธีรภัทร์ เข้าพบแสดงความยินดีและขอหารืองานขับเคลื่อนปฏิรูปสังคม-ปฏิรูปการเมืองที่อยากให้มีการทำงานร่วมกัน
16.00 น. ทีม สค. หารือเรื่อง พ.ร.บ. ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวที่จะเข้า ครม.วันรุ่งขึ้น นัยว่าเพื่อเตรียมข้อมูลให้ รมต.ใหม่
 
13 มี.ค.“เข้าประชุม ครม.ครั้งแรก”
ผลจากเอลนิโญ และลานินญา ทำให้ปีนี้มีไฟป่าทางภาคเหนือทั้งในประเทศไทยและพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน และเกิดภาวะหมอกควันอย่างหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา   เกิดมลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรง ประชาชนเป็นโรคทางเดินหายใจมากอย่างเห็นได้ชัด ทัศนวิสัยเลวร้ายมากจนการคมนาคมติดขัด เครื่องบินงดเที่ยวบินกันเป็นแถว อ.ไพบูลย์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายจากนายกให้ลงพื้นที่เพื่อหาข้อเท็จจริงและหาทางแก้ปัญหา
สิ่งที่อาจารย์ไพบูลย์ในฐานะรองนายกได้พบ ทำให้เดิมทีคิดว่าจะไม่ยอมทิ้งกระทรวง พม.ไว้กับผมตามลำพัง ต้องมีอันเปลี่ยนไปเพราะงานรองนายกนั้นกว้างขวางกว่าและต้องทำหน้าที่แทน นรม. เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ-ความคาดหวังของสาธารณะ ซึ่งใหญ่มาก
8.30 น. ผมรีบไปประชุม ครม. ตั้งแต่เช้า ในฐานะ รมต.ใหม่ต้องไปดูสถานที่ก่อนเพื่อสร้างความคุ้นเคย
พอลงจากรถ เพื่อเดินเข้าตึก สลค. มีนักข่าวนั่งรอกันตั้งแต่เช้าซึ่งเข้าใจว่าเป็นปกติในวันประชุม ครม.   พอเห็นผมเดินมา   เสียงพูดดังขึ้นว่าหมอมา!” จากนั้นพวกเขากรูกันเข้ามาสัมภาษณ์   ทั้งกล้อง TV, เทปบันทึกเสียงและไมโครโฟนเต็มไปหมด ดักหน้าดักหลัง   เรื่องแรกที่เขาถามแบบรับน้องใหม่เป็นเรื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองและนโยบายที่ผมแถลงว่าจะถอดสลักความรุนแรงในสังคมไทย
กว่าจะฝ่าด่านนักข่าวได้ เกือบได้เวลาเข้าประชุม ครม. ผมกระเซ้าพวกเขาว่า “ต้อนรับ รมต.ใหม่กันเต็มที่เลยเชียวนะ” เสียงนักข่าวคนหนึ่งบอกไล่หลังมาว่า คราวหน้าต้องขอเรื่อง ไฟใต้!”
9.00 น. ประชุม ครม. มีวาระการประชุมมากมาย มีเอกสารการประชุมจำนวนมาก ผมถูกจัดที่นั่งแทน รมว.พม.เดิมเพราะ อ.ไพบูลย์ไปนั่งที่รองนายก, ที่นั่งของผมจึงอยู่หน้าสุดฝั่งขวามือ ใกล้ประธาน (นายก) ซึ่งติดกับ รมต. กก. (ดร.สุวิทย์ ยอดมณี) และ รมว. กษ. (ศ.ธีระ สูตบุตร)
เรื่องที่ประชุมหารือกันมาก คือประเด็นมลภาวะหมอกควันภาคเหนือ   ก่อนจบการประชุม อ.ไพบูลย์ต้องรีบออกไปก่อนเพื่อเดินทางลงพื้นที่แก้ปัญหาหมอกควันที่เชียงใหม่ ก่อนไปมากระซิบฝากว่า มีประเด็นพิจารณาของกระทรวง พม. 2 เรื่อง ขอให้ช่วยดูต่อให้ด้วย เอาเข้าแล้วครั้งแรกก็ต้องแสดงบทใน ครม.เลย
14.00 น. หลังเลิกประชุม ครม. รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่ทำเนียบ   จากนั้นต้องรีบเดินทางไปเป็นประธานงานแจกรางวัล นวัตกรรมเพื่อคนพิการ ของ สป.สช. ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา
ที่ประชุมสัมมนาต้อนรับดีมาก ทำให้ผมได้สติว่า วันนี้เราอยู่ในฐานะ รมต.พม.   ไม่ใช่ฐานะของ นพ.พลเดช   ปิ่นประทีปที่เป็นนักวิชาการ-นักพัฒนา-นักเคลื่อนไหวสังคมอย่างแต่ก่อน
งานจัดได้ดีมาก คนพิการอยู่กันพร้อมหน้า แววตามีความสุขกันทุกคน   หลังการแจกรางวัลแล้วมีพิธีประกาศเจตนารมณ์และร้องเพลง “กำลังใจ” ร่วมกัน
นพ.สงวน   นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สป.สช.มาด้วย, นพ.นิทัศน์ รายวา (เพื่อนฝูง) มาในฐานะผู้ตรวจราชการ สธ. นิทัศน์บอกว่า “ได้อ่านบทสัมภาษณ์ไทยโพสต์แล้วชอบใจ”
15.30 น. ทีมงาน กรมพัฒนาสังคม (พส.) เข้าพบเพื่อรายงานข้อมูลกิจกรรมโครงการของกระทรวง พม. ที่มีอยู่ทั้งหมดใน จชต. ตามที่เคยขอไว้ ทำให้ผมรู้ข้อมูลว่าเป็นครั้งแรกว่าเจ้าหน้าที่ พม. ทั้ง 3 จังหวัด มีรวม 100 คน พอดี
18.00 น. ทีม รมต. ประชุมหารือกัน, อ.เอื้อจิต (ที่ปรึกษา) และ น.สพ.ปกรณ์ (เลขานุการ) เราซักซ้อมบทบาทของทีมงานและทำความเข้าใจเป้าหมายการทำงานของผมในฐานะ รมต. ผมรู้สึกมั่นใจว่าทีมของเราน่าจะทำได้ดีกว่าทีม รมว. ไพบูลย์ในแง่ของความเป็นเอกภาพ และการมุ่งหวังผลในทางปฏิบัติ
 
14 มี.ค.
7.30 ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง คณะ 3 เป็นครั้งสุดท้าย เพราะต่อไปจะเป็นชุดที่รวมอยู่ในคณะของรองนายกไพบูลย์ (คณะสังคม) วันนี้ อ.วิจิตร เป็นประธาน   เรื่องที่ติดตามคือ เรื่องนโยบาย “คุณธรรม” ที่ ศธ. รับมอบจาก ครม. ให้เป็นเจ้าภาพว่าด้วย “การศึกษาที่ใช้คุณธรรมนำความรู้”
9.30 น. คณะอาจารย์ รังสรรค์ ทองทา (โต๊ะครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ ท่าอิฐ ปทุมธานี) กับ ดร.อิสมาแอล ลุตฟี จะปากียา (อธิการบดี วิทยาลัยอิสลามยะลา) มาพบแสดงความยินดี
10.00 น. คณะของ อ.ลิขิต, สถาบันสร้างสรรค์ภูมิปัญญาเพื่อสังคม, มีประธานและคณะกรรมการราว 7 คน เข้าเยี่ยมคารวะ, ทีมงานแนะนำตัวว่าเป็นลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธาการทำงานของ อ.ประเวศ- อ.ไพบูลย์ – เอนก-พลเดช มายาวนาน มาแสดงความยินดีและคารวะ
11.00 น. ทีมคุณปฏิมา จากกันตนาเข้าพบแสดงความยินดี   จึงได้ถือโอกาสปรึกษาเรื่อง จชต. ผมออกปากว่าอยากพบปะพูดคุยกับ “ทมยันตี” (คุณหญิงวิมล ศิริวิบูลย์เวช) นักเขียนอาวุโสนามอุโฆษ เพื่อหารือการเขียนนวนิยายเรื่องยาวเพื่อปลูกฝังความรักสามัคคี การอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน และทำละคร TVด้วย
12.00 น. ทีม LDI ที่ได้รับมอบหมายงานให้ไปวางแผนขับเคลื่อน 5 ภารกิจใน 7 เดือน มารายงานความคืบหน้า
 
15 มี.ค.
9.00 น. คุณวรัญประสงค์ ศรีรัตน์ อดีต ทปษ.รมว.จาตุรนต์ ฉายแสง เข้าพบเพื่อแสดงความยินดี และฝากฝังปัญหาของชุมชนท้องถิ่นที่ จ.ขอนแก่นที่เป็นฐานการเมืองของตน
9.30 น. เครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดิน กทม. ขอเข้าพบ, นำโดยป้า เพทาย ผู้นำชุมชนเขตดินแดงที่ทำงานร่วมกันมานาน   พวกเขามีศักยภาพในการทำงานชุมชนมากและอยากทำโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครต้านยาเสพติดอีกสัก 2,000 คน
10.00 น. ทีมคุณสมเกียรติ เข้าพบแสดงความยินดี และหารือแลกเปลี่ยนกันในด้านงานสันติภาพ จชต. มูลนิธิของคุณสมเกียรติ เป็นพุทธนิกายมหายาน, มี 160 สาขาทั่วโลก, ท้ายการประชุม, สุภาพสตรีคนหนึ่งในคณะกล่าวถึงบทสัมภาษณ์ นสพ.ของผม บอกว่าประทับใจมากและอ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจต่อ 5 ภารกิจที่ประกาศจะทำ
13.30 น.ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด เป็นประธานแทน  รมว.ไพบูลย์,  พบปัญหาชุมชนแออัดกำลังถูกไล่รื้อ 62 แห่ง อยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ มีตั้งแต่ ปล่อยข่าวไล่รื้อ แจ้งให้ออก ฟ้องศาลและบังคับคดี
เครือข่ายสลัม 4 ภาคเป็นแกนนำ มีหลายกรณีตัวอย่างที่ชุมชนถูกรื้อถอน ถูกจับ-ขับไล่จนเกิดปะทะกันหัวร้างข้างแตกเลยทีเดียว
ตกเย็นให้สัมภาษณ์ นสพ.แนวหน้า อยากรู้วิธีการทำงานว่าจะแตกต่างจาก รมว.ไพบูลย์อย่างไร  และการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมจะถอดสลักอย่างไร วันรุ่งขึ้นปรากฎเป็น scoope ใหญ่เต็มหน้าเลย
 
16 มี.ค.
08.30 น. คุณจอม เพ็ชรประดับ แห่ง itv (TITV) มาสัมภาษณ์เพื่อออกรายการ ก่อนสัมภาษณ์คุณจอม ในฐานะที่รู้จักกันมาก่อนขอปรึกษาเรื่องอนาคต itv และแนวคิด TV สาธารณะ ส่วนเรื่องที่สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์เป็นประเด็น ความแตกแยกในสังคมและการสมานฉันท์ว่า พม. จะทำแบบไหน?
น่าสังเกตว่าสัปดาห์นี้ สื่อ(TV,วิทยุ นสพ.) จี้ถามผมในประเด็นที่ไม่ใช่งานพื้นฐานของกระทรวง พม. แต่เป็นประเด็นร้อนที่สังคมสนใจมากกว่า คือประเด็น ความแตกแยกในสังคม (TV, นสพ.) และประเด็นปัญหาบ้านเอื้ออาทร ซึ่งวิทยุชอบมาก
10.00 น. ทีม UNIFEM เข้าพบ, นำโดย Dr.Jean D’Kuhna เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะการทำงานด้าน Gender and Eqality  ในทีมที่ ดร.ไรรัตน์ ที่เคยรู้จัก ทำงาน TDRI มาก่อนเป็นคนหนุ่มสาวที่น่ารักและเก่งมาก
11.00 น. รศ.ดร.อิสรา (เพื่อนของวณี) มาพบเพื่อส่งการบ้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมกองทุนซากาต และหารือการจัดงานใหญ่เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ. ในเดือนเมษายน
11.30 น. ให้สัมภาษณ์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, เขาสนใจในประเด็นปัญหา จชต. และเจาะในเรื่องแนวคิดแนวทางที่บอกว่า ผมจะประคับประคองทุนทางสังคมใน จชต.เอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยผ่านโครงการ 8 โครงการ 550 ล้านที่มีอยู่ในปี 2550 เขาเจาะถามรายละเอียดทั้ง 8 โครงการ   ปรากฎว่าเอามาลงเป็น Scoope ใหญ่ในวันอาทิตย์ อาจารย์หมออุดมศิลป์ ศรีแสงนามได้อ่านพบเข้า ท่านออกปากชมว่า ให้สัมภาษณ์เป็น ท่านบอกว่าถ้า นสพ. มันจับรายละเอียดได้เนื้อได้หนังว่าเราจะทำอย่างไรแบบนี้ถือว่าสอบผ่าน ท่านว่า “มันต้องอย่างนี้ซิ”   พร้อมกับยกวาทะของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ มาอ้าง นักการเมืองไม่ใช่มีหน้าที่ประชุม ครม. หรือประชุมสภา แต่มีหน้าที่อธิบายต่อสาธารณะ
13.30 น. ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาสังคม มีประเด็นปัญหารูปธรรมที่อยู่ในวิสัยจะแก้ปัญหาได้ไม่ยากและควรทำให้สำเร็จภายใน 7 เดือนหลายเรื่อง จึงตั้ง คทง. 3-4 ชุด โดยดึงเอ็นจีโอและนักวิชาการตัวกลั่น (Champion)ในแต่ละเรื่องเป็นตัวตั้ง
          1) คณะทำงานแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ
          2) คณะทำงานแก้ปัญหาทรัพยากร และ สวล.
          3) คณะทำงานแก้ปัญหาคนไร้บ้าน, คนใต้สะพาน
          4) คณะทำงานพัฒนาชุมชน
ใช้เวลาประชุม 2 : 30 ชั่วโมง ทำให้ไม่ทันไปประชุมร่วมกับนายก (แทน รมว.พม.) ที่ทำเนียบ เรื่องอยู่ดีมีสุข  เพราะปลีกตัวไปไม่ได้จริงๆ   หากจะถูก อ.ไพบูลย์ตำหนิก็ต้องยอม
16.00 น. ทีมโฆษกรัฐบาล นพ.ยงยุทธ มัยลาภ มาขอสัมภาษณ์ออกรายการ TV ของรัฐบาล, ให้ผมร่ายยาวถึงยุทธศาสตร์ 7 เดือน 5 อย่าง, ได้มีโอกาสพูดเต็มๆ, โฆษกยงยุทธชอบมาก และขออนุญาตนำไปออกรายการ TV5 ของตนด้วย
17.00 น. ประชุมนอกรอบเรื่อง “มาบตาพุด” มีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพ สวล. ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มากับคณะด้วย
ประเด็นมีอยู่ว่า ESB ได้ทำให้เกิดมลภาวะอย่างหนักจนชุมชนเจ็บป่วยล้มตาย คุณภาพชีวิตเสียหาย สวล.แย่ทั้งดิน-น้ำ-อากาศ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกต่อต้านอย่างรุนแรง ฝ่ายรัฐก็มีชุมชนในจัดตั้ง 25 ชุมชนในเขตเทศบาลมาบตาพุด และ อีก 9 หมู่บ้านในเขต อบต.บ้านฉาง   สองฝ่ายเห็นคนละอย่างโดยหน่วยงานรัฐ (การนิคม กระทรวงอุตสาหกรรม, และกระทรวง ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ) หนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป โดยพยายามมีโครงการแก้ปัญหามลพิษ   แต่ชาวบ้านฝ่ายต่อต้านไม่ไว้วางใจ
ดร.มณทิพย์ ทาบูกานอน (อธิบดีกรมส่งเสริม สวล.) มีแนวคิดว่า ควรหา FactFinding  ก่อน เพราะไม่อย่างนั้น ประชาชนจะไม่เชื่อถือและจะเกิดแรงต้านหนัก   แต่กรมควบคุมมลพิษ   (ดร.สุภัทร) ยืนยันจะทำต่อตามแนวทางเดิม เพราะได้ทำแผนและผ่านคณะกรรมการ สวล. แห่งชาติไปแล้ว
ผมจึงขอศึกษาและขอสงวนสิทธิ์ที่จะใช้ดุลยพินิจของกระทรวง พม. อย่างอิสระ
 
17 มี.ค. มีการประชุม ครม. นัดพิเศษวันเสาร์ เต็มวันเพื่อพิจารณากรอบงบประมาณ 2551 และประชุมนอกรอบต่อเฉพาะแต่ รมต. ร่วมรัฐบาล
งบประมาณ 51, ตั้งกรอบไว้ 1.6 ล้านล้านบาท (รายได้ 1.5 ล้านล้านบาท) แต่ทุกกระทรวงของงบประมาณมารวม 2.0 ล้านล้านบาท เกินไป 4 แสนล้าน จะต้องตัดลงมาให้พอดี
ของกระทรวง พม. ขอ 22,000 ล้าน (เพิ่ม 85%)รวมเฉพาะโครงการตามยุทธศาสตร์/นโยบาย 11,000 ล้าน 84 โครงการ ซึ่งต้องทำ priority A,B,C เพื่อให้ สนย./สป. ไปปรับ งปม. เสียใหม่ และประสาน สงป.ต่อไป
 
18 มี.ค.
8.00 น. ไปร่วมงานชุมนุมวิ่งรณรงค์รวบรวมรายชื่อ “สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์” โดยเครือข่ายต่อต้านเหล้า ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนามเป็นประธาน, หัวแรงใหญ่, สสส.สนับสนุน
พวกเขาใช้เวลาวิ่งรวม 8 วัน จากทุกภาคของประเทศ ใช้ รพ.ชุมชน, ชมรมแพทย์ชนบทและหมออนามัย เป็นฐานกำลัง รวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 12.89 ล้านรายชื่อ
รองนายกไพบูลย์, รมว. มงคล (สธ.), รมช.พม. (พลเดช), ประธานกรรมาธิการ สนช.(ประพันธ์ คูณมี) และรองเลขาธิการรัฐสภา ไปร่วมรับมอบ
14.00 น. ไปเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเครือข่ายคุณธรรมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมของ สสว.1 ที่ศูนย์พัฒนาบุคลากรของ พม.ที่ปทุมธานี (ธัญญบุรี) และบรรยายพิเศษ 2 ชม.   เพิ่งรู้ว่า พม. มีที่ดินมากนับพันไร่และมีหลายหน่วยงานอยู่ที่บริเวณนั้น
เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้บรรยายเรื่องงาน 5 เดือนแรกและแผน 7 เดือนหลังให้กับข้าราชการ พม.ฟัง   ท่านปลัด พม.ได้ฟังอย่างตั้งใจ   ที่ประชุมดูท่าทางประทับใจมาก ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับการขับเคลื่อนภารกิจ รมต. พม.
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
18 มีนาคม 2550
 

Be the first to comment on "ตอนที่ 29: “สัปดาห์แรกของรัฐมนตรี”"

Leave a comment

Your email address will not be published.